โรคลูคีเมียแมว อาการและวิธีป้องกัน

โรคลูคีเมียแมว

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่รักความเป็นอิสระมีโลกส่วนตัวไปไหนมาไหนรวดเร็วคาดเดาใจได้ยาก แม้จะเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็ยังสังเกตอาการได้ยาก เพราะแมวใช้เวลาส่วนใหญ่นอนหลับหรือนอนนิ่งๆ ปัญหาสุขภาพแมวที่ต้องระมัดระวังก็คืออาการป่วยเป็นโรคลูคีเมียแมว

โรคลูคีเมียแมว เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคลูคีเมียแมวเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งที่เม็ดเลือดขาวและเนื้องอกตามอวัยวะภายในร่างกายของแมว เช่น ต่อมน้ำเหลือง และเชื้อไวรัสตัวนี้ยังทำให้ภูมิคุ้มกันของแมวลดลง และที่เป็นอันตรายที่ต้องระมัดระวังและป้องกัน ก็คือ สามารถติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย น้ำปัสสาวะ และ อุจจาระจากแมวตัวที่ป่วยไปสู่แมวปกติ

อาการของโรคลูคีเมียแมว

อาการเริ่มแรกจะไม่แตกต่างจากอาการของแมวป่วยทั่วไป คือมีอาการเซื่องซึม แมวที่ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานดีอาการจะแสดงออกไม่มาก ส่วนแมวที่สุขภาพไม่แข็งแรงหรือไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น แมวบ้านที่นำมาเลี้ยงดูด้วยความเมตตาสงสาร จะมีอาการที่รุนแรงและเห็นได้ชัด ดังนี้

1. หายใจติดขัด ไอและสำลัก เกิดจากต่อมน้ำเหลืองในช่องอกบวมโตขยายใหญ่ไปเบียดและบีบหลอดลม และหลอดอาหาร

2. อาเจียนมีอาการเบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม ท้องร่วงหรือท้องผูก เมื่ออาการอยู่ในขั้นรุนแรงเซลล์มะเร็งจะกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ลำไส้ ปอด ตับ และม้าม

3. ระบบประสาทผิดปกติ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เดินเซ ตามลำตัวของแมวอาจมีก้อนนูนแข็ง ตาบอดเฉียบพลัน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

วิธีป้องกันโรคลูคีเมียแมว

1. ลูกแมวที่นำมาเลี้ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค การฉีดวัคซีนสามารถทำได้ตั้งแต่แมวมีอายุ 2 เดือนครึ่งขึ้นไป

2. แมวที่นำมาเลี้ยงควรจับทำหมัน เพื่อลดความก้าวร้าวโดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ แมวจะดื้อและไม่อยู่ติดบ้าน อาการนี้จะเป็นทั้งแมวตัวผู้และแมวตัวเมีย ช่วงนี้อาจทำให้ติดเชื้อโรคมาจากแมวตัวอื่นได้

3. ลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้แมวติดเชื้อ โดยการขังไม่ให้ออกจากบ้านแต่ควรพาแมวไปเดินเล่นนอกบ้านบ้าง เพื่อไม่ให้แมวเกิดความเครียด

4. กรณีเลี้ยงแมวรวมกันหลายตัว หากตรวจพบว่ามีแมวป่วยควรจับแยก เพื่อป้องกันไม่ให้แมวตัวอื่นติดเชื้อ

การดูแลสุขภาพของแมว ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติ หากพบความผิดปกติหรือมีอาการเซื่องซึมเพียงเล็กน้อย ควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้ออกจากบ้าน หรือให้อยู่ในบริเวณที่เราสามารถดูแลได้ เมื่อพบว่าเป็นโรคลูคีเมียแมวและมีอาการที่รุนแรงควรพาไปพบสัตว์แพทย์ เพื่อดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที

วิธีป้องกันโรคลูคีเมียแมว อาการของโรคลูคีเมียแมว โรคลูคีเมียแมว โรคลูคีเมียแมว อาการ
Back to Top